พื้นที่/โครงการที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ


 

         โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

 

                     ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเก่า และตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๑,ooo ไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้พัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านป่าทุ่ง หมู่ที่ ๔ ตำบลบางเก่า ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำพรุเสื่อมโทรมดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด พัฒนาพื้นที่โดยปรับรูปแปลงนา ปรับปรุงดินด้วยหินปูนฝุ่น ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง และปลูกพืชผักพืชไร่หลังฤดูเก็บเกี่ยว จากนั้นได้ขยายผลการพัฒนาไปยังบ้านบาเลาะ หมู่ที่ ๕ ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีสภาพเป็นดินทรายจัดเกษตรกรใช้พื้นที่ปลูกผักเสี้ยนในสวนมะพร้าว ส่งเสริมให้ราษฎรทำปุ๋ยหมักปรับปรุงบำรุงดิน ถ่ายทอดความรู้การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดและดินทรายจัดเพื่อปลูกพืชผักและไม้ผลแบบผสมผสาน จากการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆทำให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง มีข้าว พืชผัก ไม้ผลไว้บริโภคและจำหน่าย สร้างรายได้เพิ่มในครัวเรือนลดปัญหาการว่างงาน สร้างแรงงานคืนถิ่นและชุมชนมีความเข้มแข็ง

 

         โครงการฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรในเขตลุ่มน้ำบางนรา 

 

                     เดิมพื้นที่บ้านโคก บ้านจูโว๊ะ บ้านกำแพงและบ้านตะปัง ซึ่งมีเขตติดต่อกับลุ่มน้ำบางนรา ชาวบ้านใช้พื้นที่ทำนาแต่ได้ผลผลิตน้อยลง จึงปล่อยทิ้งร้างดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ฟื้นฟูพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตรได้ดังเดิม ประกอบด้วย บ้านโคก หมู่ที่ ๕ ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง ส่งเสริมการปลูกข้าวและการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านจูโว๊ะ หมู่ที่ ๕ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง ส่งเสริมการปลูกข้าว พืชผักและไม้ผลบริเวณบ้าน บ้านกำแพง หมู่ที่ ๒ ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง สนับสนุนการขุดยกร่อง ส่งเสริมการปลูกพืชผักและไม้ผลแบบผสมผสานและปาล์มน้ำมัน และบ้านตะปัง หมู่ที่ ๒ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ ส่งเสริมการปลูกข้าว นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้จัดกิจกรรมการสาธิตการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการปลูกพืชผักพืชไร่และไม้ผลในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด โดยเน้นการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก สาธิตการปลูกและการใช้ปุ๋ยพืชสด การเลี้ยงปลาในบ่อ การเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนและสามารถพึ่งตนเองได้

 

         โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านปลักปลา-บาวง 

 

                     ตั้งอยู่ที่บ้านปลักปลา หมู่ที่ ๕ ตำบลโฆษิต และบ้านบาวง หมู่ที่ ๒ ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เดิมราษฎรใช้พื้นที่ปลูกข้าว ได้ผลผลิตน้อยลงดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด และช่วงฤดูแล้งไม่มีน้ำใช้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปพัฒนาพื้นที่ช่วยเหลือราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำการเกษตร โดยดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ปรับพื้นที่นาร้างและไถเตรียมพื้นที่เพื่อการปลูกข้าว สนับสนุนวัสดุปรับปรุงดินจัดทำและซ่อมแซมเส้นทางลำเลียงผลผลิต สนับสนุนขุดยกร่องเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกพืชผักพืชไร่ ไม้ผล สาธิตการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การใช้ปุ๋ยพืชสด เลี้ยงสัตว์บริเวณบ้าน ทำเกษตรแบบผสมผสาน เลี้ยงปลาในร่องน้ำ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก ทั้งนี้เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรทั้ง ๒ หมู่บ้าน

 

         โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกสะตอ 

 

                     พื้นที่บ้านโคกสะตอ หมู่ที่ ๗ ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ ๑,๓oo ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สนับสนุนปูนขาว โดโลไมท์ และหินปูนฝุ่นเพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด ส่งเสริมการปลูกข้าว แต่ให้ผลผลิตน้อยมากเนื่องจากพื้นที่ลุ่มต่ำมาก จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้วยการขุดยกร่องสนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมัน ส่งเสริมการปลูกพืชผักและไม้ผลแบบผสมผสานบริเวณบ้านพร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผัก ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก สาธิตการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ สาธิตการปลูกและการใช้ปุ๋ยพืชสด เพื่อสร้างรายได้เสริมและการฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชผักอย่างต่อเนื่อง

 

         โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านโคกกระท่อม 

 

                      บ้านโคกกระท่อม หมู่ที่ ๓ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ ๓,๕oo ไร่ พื้นที่ลุ่มต่ำและดินเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการปลูกข้าว ปาล์มน้ำมัน พืชผักพืชไร่และไม้ผลแบบผสมผสาน เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและมีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มชึ้น

 

         โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว 

 

                       สมเด็จพระนางเจ้าสิริิกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระเสาวนีย์ เมื่อวันที่  ๖ ตุลาคม ๒๕๔o ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ให้เกษตรกรทำการเกษตรได้ พื้นที่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มมีหญ้ากระจูดขึ้นจำนวนมาก ดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ในปี ๒๕๔๑ ได้พัฒนาพื้นที่เพื่อการปลูกข้าว ใส่หินปูนฝุ่นเพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยว จัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวในพื้นที่เกษตรกร สนับสนุนพันธุ์ข้าวจันทร์เต๊ะ จันทร์หอม หอมกระดังงา ลูกนาก ลูกแดง แก่นจันทร์ และปุ๋ยเคมี จัดกิจกรรมสาธิตการทำการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มปลูกข้าว กลุ่มปลูกพืชผัก และกองทุนปุ๋ย พร้อมทั้งสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักและไม้ผล สนับสนุนการขุดยกร่องส่งเสริมการปลูกพืชผักแบบผสมผสาน สาธิตการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน

 

         โครงการพัฒนาพื้นที่พรุบาเจาะ 

 

                      ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สภาพพื้นที่เป็นพรุเสื่อมโทรม ในปี ๒๕๓๓ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้พัฒนาพื้นที่ด้วยการขุดยกร่องเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน ๒o ไร่ ซึ่งสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันร่วมกับนิคมสหกรณ์บาเจาะ ส่งเสริมให้สมาชิกนิคมบาเจาะปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันพรุบาเจาะ ๒,๘oo ไร่ นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผัก พืชไร่เพื่อการบริโภคและเสริมรายได้ในครัวเรือน จำนวน ๔๔ ครัวเรือน 

 

         โครงการพัฒนาพื้นที่พรุกาบแดง 

 

                   ตั้งอยู่ที่บ้านโคกยามู ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในปี ๒๕๔o ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่พรุ โดยเริ่มดำเนินการในลักษณะการจัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่ ๑๓ ไร่ ปาล์มน้ำมันสามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ดี จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ปััจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน ๒,๔๔๗ ไร่ และในปี ๒๕๖o ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร จำนวน ๒๒ ครัวเรือน