โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช


 


     ความเป็นมา

 

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรงเริ่มงานพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ที่ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ต้นยางนา และทรงให้ดำเนินการรวบรวมรักษาพรรณพืชไม้จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์มาปลูกในบริเวณสวนจิตรลดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสานพระราชปณิธานต่อ ได้พระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการมาตั้งแต่ต้นจนถึงงบประมาณปี พ.. 2550 และมีผู้ที่มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเงิน น้อมเกล้าฯ ถวายอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ สนับสนุนการดำเนินงาน ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักพระราชวัง การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนองพระราชดำริเป็นจำนวนมากโดยพื้นที่และกิจกรรมของโครงการได้ขยายและกระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายมากขึ้นโดยลำดับ และได้บรรลุผลก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยประจักษ์ชัดแล้ว

               โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระองค์ โดยมีการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ภายใต้แผนแม่บทระยะ 5 ปี โดยแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม 2559- 30 กันยาน 2564) มีกิจกรรมการดำเนินงาน   8 กิจกรรม อยู่ภายใต้ 3 กรอบดำเนินงาน และ 3 ฐานทรัพยากร คือ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ประกอบด้วย 1) กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าธรรมชาติ 2) กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชที่มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม 3) กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช เป็นการนำพันธุกรรมพืชไปเพาะและปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ และปลอดภัยจากการรุกราน 4) กิจกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช เป็นการศึกษาประเมินพันธุกรรมพืชในด้านต่างๆ ให้ทราบองค์ประกอบคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์พืชพรรณ 5) กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช เป็นการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชด้วยคอมพิวเตอร์ 6) กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุกรรมพืชระยะยาว 30 - 50 ปี 7) กิจกรรมการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ เยาวชน บุคคลทั่วไป ให้มีความเข้าใจตระหนักในความสำคัญเกิดความปิติ และสำนึกที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์พืชพรรณของไทยให้คงอยู่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าประจำชาติสืบไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่เกี่ยวกับ "ปัจจัยสี่" อันเป็นพื้นฐานหลักในการดำรงชีวิตของมนุษย์ จึงนับได้ว่าพันธุ์ไม้เหล่านี้มีความผูกพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และ 8) กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนงานของ อพ.สธ. ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้จึงสามารถทำให้คนไทยได้ทราบถึงคุณประโยชน์ของพืชพรรณหลายชนิดซึ่งบางชนิดเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีการนำมาใช้ประโยชน์แต่ขาดการดูแลรักษาจนปริมาณลดลง และเกือบสูญพันธุ์จากถิ่นกำเนิด พืชบางชนิดมีมาช้านานแต่มิได้เป็นที่ล่วงรู้ถึงคุณประโยชน์จนอาจถูกละเลยหรือถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย

               โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้เริ่มดำเนินงานจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตั้งแต่ปี 2536 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 
                          1. เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมในท้องถิ่น สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
                          2. เพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นทรัพยากรในท้องถิ่น
                          3. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เยาวชน บุคคลในท้องถิ่นเห็นความสำคัญ และรู้จักหวงแหน มีการเรียนรู้และมีการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

                แผนแม่บทระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม 2559 - 30 กันยายน 2564)

                แผนปฏิบัติงานประจำปี 2561

                ประกาศคณะกรรมการดำเนินงาน อพ.สธ.

                ประกาศคณะทำงาน/คณะอนุกรรมการ

                ผลการดำเนินงาน
                         ผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2560
                         ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช

                                  1. หนังสือต้นไม้ทรงปลูก
                                  2. หนังสือสวน 50 ปี ครองราชย์
                                  3. หนังสือสวนพฤกศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา
                                  4. หนังสือพรรณไม้ต่างระดับ สวน 72 พรรษา
                                  5. หนังสือสวน 76 พรรษา
                                  6. หนังสือพรรณไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
                                  7. พรรณไม้ดอกหอม
                                  8. พรรณไม้ต่างระดับป่าพรุจำลอง

                รายชื่อผู้ประสานงาน

 

 

    รายการอื่นภายใต้หัวข้อเดียวกัน