แนวพระราชดำริ


 

 

    วันที่ 18 สิงหาคม - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2524 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริ ความว่า

       “...ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขังตลอดปี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3๐๐,๐๐๐ ไร่ กสิกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกหมดแล้ว ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารไพไรท์ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่พรุอื่นในโอกาสต่อไป...”    

  

    วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2526 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปโครงการอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงมีพระราชดำริ ความว่า

       “...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ควรครอบคลุมถึงการศึกษาและการพัฒนาป่าไม้บริเวณเขายาบี และเขาสำนักด้วย เพื่อให้มีสภาพป่าไม้อย่างสมบูรณ์ สงวนไว้เป็นแหล่งน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน ซึ่งระยะต่อไปอาจจะพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กบนภูเขาทั้งสอง แล้วต่อท่อชักน้ำจากอ่างเก็บน้ำลงมาใช้ในพื้นที่ศูนย์ฯ และน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของราษฎรหมู่บ้านต่างๆ บริเวณเชิงเขาทั้งสองได้…”

       “...ควรที่จะขยายพื้นที่ของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ…”

       “...ควรที่จะรวมพื้นที่ที่เป็นส่วนของชลประทานกับศูนย์ฯ เป็นพื้นที่เดียวกันเพื่อจัดการเป็นแปลงศึกษา แปลงขยายพันธุ์ รวมทั้งให้ศูนย์ฯ เป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรรอบๆ โครงการ...”

       “...พื้นที่ทดลองวิจัยของศูนย์ฯ ควรดำเนินการระบายน้ำในระดับที่เหมาะสม...”

       “...ให้ปรับปรุงระบบชลประทานโดยที่สามารถส่งน้ำเพื่อการทำนาทั้งฤดูแล้งและฤดูทำนา...”

       “...ให้กรมป่าไม้ศึกษาหาพันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ดีในที่ลุ่มน้ำขัง...”

       “...พื้นที่ลุ่ม ให้หาแนวทางพัฒนาศึกษาวิจัยพื้นที่เพื่อปลูกไม้ยืนต้น...”

       “...ควรสร้างโรงงานผลิตยางชั้นดีภายในศูนย์ฯ โดยรวบรวมราษฎรรอบพื้นที่โครงการฯ เข้าเป็นสมาชิก...”

       “...ควรมีการทดลองน้ำดินอินทรีย์ (ดินพรุ)...”

       “...ควรพิจารณาขยายการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการใช้ปุ๋ยพืชสดจากพืชตระกูลถั่ว...”

       “...พื้นที่ที่สามารถปลูกถั่วเขียวหรือถั่วเหลืองได้ ควรส่งเสริมให้ราษฎรปลูกและให้ศูนย์ฯ สร้างโรงงานแปรรูปผลผลิตดังกล่าว...”

       “...สระน้ำในบริเวณศูนย์ฯ พิกุลทอง ควรดำเนินการเลี้ยงปลาในสระนี้...”

       “...ควรที่จะปลูกย่านลิเภาในที่ป่ารกมากกว่าที่ปลูกในที่โล่งแจ้ง...”    

 

    วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2526 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัส เมื่อเสด็จฯ ไปทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดังนี้

       “...จุดประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาฯ เพื่อเป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไร และการนำเสนอวิทยาการแผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ…”

       “...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่อยู่ในจังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์ศึกษาที่เน้นทางด้านค้นคว้าวิจัยและบริการในชีวิตความเป็นอยู่ในภาคใต้ หนักไปในทางดินที่เป็นพรุ ซึ่งเป็นปัญหามากเพราะว่ายังไม่ได้ศึกษาพอและเกี่ยวข้องกับกรมกองหลายกรมกอง ซึ่งอาจจะยังไม่ปรองดองกันคือไม่เข้าใจกัน ก็มาวิจัยพร้อมกันทีเดียว จะได้มีความเข้าใจกันได้…”

 

    วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2527 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริกับอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
ความว่า

       “...ให้ดำเนินการทดลองปรับปรุงดิน โดยใช้ Rock phosphate ในพื้นที่พรุเปรียบเทียบกับหินฝุ่น โดยจัด หาวัสดุ Rock phosphate จากแหล่งท้องถิ่นเช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหรือท้องที่ใกล้เคียงมาทดลองดู ดังนั้น จึงมอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนา
พิกุลทองฯ เป็นผู้รับผิดชอบ...”

 

    วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2527 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงติดตามผลการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริ ความว่า

       “...เป็นที่ทราบกันดีแล้ว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนา ก็คือศึกษาวิธีพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงวิธีแก้ปัญหาให้เกษตรกรด้วย ขณะนี้บางพื้นที่ราษฎรกำลังประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินกลายสภาพเป็นดินเปรี้ยวในลักษณะต่าง ๆ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาจึงควรกำหนดพื้นที่ในเขตศูนย์ฯ มีสภาพคล้ายคลึงกับที่ดินที่มีปัญหาแต่ละแห่ง แล้วสร้างสถานการณ์ให้เหมือนกับพื้นที่จริงที่สุด โดยใช้วิชาการเข้าช่วย ทั้งนี้เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ที่มีปัญหานั้นค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงในรูปใด ใช้เวลาเท่าใดในแต่ละขั้นตอน จากนั้นจึงจะศึกษาวิธีการแก้ไขและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินที่มีปัญหาเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรเข้าใจ
ต่อไป...”

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริกับรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, 
ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายโครงการชลประทาน, ปลัดจังหวัดนราธิวาส, นายอำเภอเมืองนราธิวาส, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สรุปได้ดังนี้คือ

       “...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชที่ทำการทดลองปลูกควรเป็นข้าว...”

       “...ให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินในเขตส่งน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำเขาสำนัก พื้นที่ประมาณ ๑๕๐ ไร่ โดยเร่งด่วน ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาการพัฒนาสวนยางแบบเอนกประสงค์ ร่วมกับการทดลองปลูกย่านลิเภา และพืชต่างๆ ในสวนยางตามความเหมาะสม...”

 

    วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2527 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริ ความว่า

       “...ในระยะแรกจะต้องเร่งปรับปรุงพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมของหมู่บ้านให้เป็นทุ่งหญ้าเสียก่อน โดยปลูกหญ้าพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินพรุ และมีคุณค่าทางอาหารพอ เนื่องจากโค กระบือ ไม่กินหญ้าพื้นเมืองที่ขึ้นในดินพรุ ทั้งนี้เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้เลี้ยงโคที่โครงการฯ จัดหาไว้ให้สมาชิกแล้ว ในระหว่างนั้นต้องส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพไปก่อน ในขณะเดียวกันทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ก็น่าจะขุดบ่อเป็นแนวขนานกับคลองมูโนะ เพื่อทดลองปลูกบัว สำหรับเก็บดอก และเมล็ดไปจำหน่าย ตลอดจนทดลองเลี้ยงปลาน้ำจืดพันธุ์พื้นเมือง ที่สามารถทนสภาพความเป็นกรดในน้ำได้ ซึ่งอาจจะเป็นปลาสำหรับบริโภคหรือปลาประเภทสวยงามก็ได้ หากน้ำในบ่อดังกล่าวมีอัตราความเป็นกรดมากเกินไป ก็ควรทดลองกรรมวิธีถ่ายน้ำเพื่อล้างความเปรี้ยว โดยสูบน้ำเสียทิ้งไปอีกทางหนึ่ง แล้วผันน้ำจืดจากคลองมูโนะเข้ามาทดแทนในบ่อ ที่ไม่ให้ผสมกับน้ำจืดในคลองมูโนะ...”

 

    วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2530 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายชัยชาญ 
ชโลธร เรื่องการดำเนินการวิจัยโครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สรุปได้ดังนี้

       “...Passion Fruit เป็นพืชที่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องรองรับ ควรหาพืชที่กสิกรบริโภคเองได้โดยตรงมาทำการทดลอง...”

       “...ต้นยางที่อายุเท่ากันแต่การเจริญเติบโตไม่เท่ากัน ให้ดำเนินการขุดดินไปวิเคราะห์วิจัยหาสาเหตุ...”

       “...หน้าแล้งต้นยางจะให้น้ำยางลดลง ให้ลองนำน้ำธรรมชาติมาใช้ในสวนยางแบบง่าย หากหาน้ำ เช่น จากอ่างบนเขาสำนักไม่ได้ขณะนี้ ก็อาจทำเทียมแบบง่าย ๆ ดูกับต้นยางสักจำนวนหนึ่ง...”

       “...ให้ทดลองปลูกยางในพื้นที่ชื้นแฉะว่ายางเจริญขึ้นหรือไม่ แค่ไหน ประการใด...”

       “...ให้ทดลองปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า และ โรบัสต้า เป็นพืชแซมยาง เพราะว่ากาแฟพันธ์นี้ ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และโรค...”

       “...แม้การทดลองต่างๆ ผลอาจไม่ได้ตามที่คิดแต่จะเป็นข้อมูลในการปฏิบัติแตกต่างจากปกติออกไปได้...”

 

    วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531 

 

       สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ณ บ้านเขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริ กับ น.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี, ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายประทุม จันทรสวัสดิ์ และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กปร. ความว่า

       “...ให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ขยายพันธุ์แพะเพิ่ม และให้ขยายพื้นที่ปลูกหญ้าด้วยเพื่อรองรับการขยายพันธุ์แพะ ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย...”

 

    วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2531 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ พระราชดำเนินไปยังสวนยางเขาสำนัก จังหวัดนราธิวาส ทรงมีพระราชดำริกับ น.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี, แม่ทัพภาคที่ ๔, ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายเล็ก จินดาสงวน รองอธิบดีกรมชลประทาน, รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, และนายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงาน กปร. ณ สวนยางเขาสำนัก จังหวัดนราธิวาส สรุปได้ดังนี้

       “...ให้ออกแบบตารางสำเร็จรูปที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และภาพเปรียบเทียบระหว่างมาตราอังกฤษ และมาตราเมตริก ให้เห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละขีดจะมีเนื้อยางแห้งที่แท้จริงอยู่เท่าใด แล้วถ่ายทอดให้เกษตรกรและพ่อค้าเข้าใจ...”

       “...ศึกษาการผลิตยางแบบชาวบ้าน และการลงทุนของชาวบ้าน โดยใช้ศูนย์ฯ เป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรประมาณ ๒๐–๓๐ คน อาจจะมีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ ๒๐๐ ไร่ ศึกษาการผลิตว่าจะพัฒนาอย่างไร จึงได้ผลผลิตโดยเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้ศึกษา...”

       “...ศึกษาการผลิตแบบถูกหลักวิชาการตามที่สวนยางแห่งนี้มีอยู่แล้ว ๑๕๓ ไร่...”

       “...ศึกษาการผลิตระดับอุตสาหกรรมน้ำยาง ซึ่งใช้ปริมาณพื้นที่สวนยางจำนวนมากในการเก็บรวบรวม...”

       “...พื้นที่บริเวณที่มีน้ำขังเหมาะสำหรับการปลูกข้าวมากกว่า ให้ศึกษาข้าวที่มีการเจริญเติบโตตามพื้นที่น้ำขังได้ก็จะดี...”

 

    วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2531 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ ความว่า

       “...ให้สร้างโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็กครบวงจร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส...”

 

    วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2533 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ กับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สรุปได้ดังนี้

       “...ศึกษาทดลองเลี้ยงไก่ตามสภาพธรรมชาติโดยใช้เศษอาหาร ข้าวเปลือก เมล็ดยาง เมล็ดปาล์มน้ำมัน เศษวัชพืช เป็นอาหารไก่ ไม่จำเป็นต้องทำกรง ทำแต่เพิง...”

       “...ผู้ที่ทำงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จะต้องเป็นทั้งนักวิจัย และนักฝึกอบรม ผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาฯ นอกจากจะได้มาเที่ยวชมจะได้รับความรู้กลับไป...”

 

    วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2533 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ทรงมีพระราชดำริ สรุปได้ดังนี้

       “...เพื่อดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเรื่องดิน ให้สามารถนำมาใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ ควรพิจารณาดำเนินการคือ…พิจารณาทางเลือกในการปรับปรุง ซึ่งมีการใช้วัสดุปรับปรุงดินที่มีประสิทธิภาพ ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดของดินการใช้วิธีเขตเกษตรกรรมและการใช้พืชทนเปรี้ยว...ให้ทำแปลงทดลองให้สภาพเหมือนกับที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน และศึกษาการปรับปรุงดินให้เสร็จให้ได้ผลภายใน ๑ ปี และนำไปดำเนินการที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน...”

       “...ให้กรมปศุสัตว์นำเอากากปาล์มจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มศูนย์ฯ ไปทดลองวิจัยเลี้ยงสัตว์ โดยเน้นไก่พื้นเมือง...”

       “...โครงการนี้ดำเนินการสนองพระราชดำริแล้ว...”

       นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริกับอธิบดี 
กรมพัฒนาที่ดิน, ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สรุปได้คือ

       “...การยกร่องในการปลูกไม้ยืนต้นในดินเปรี้ยวให้เปิดหน้าดินออกก่อนแล้วขุดดินล่างมาเสริมบริเวณสันร่อง และนำหน้าดินเข้ามาอีกครึ่งหนึ่งจะทำให้สันร่องปลูกพืชสูงขึ้น...”

       “...การใช้น้ำชลประทานร่วมกับน้ำฝนในการปลูกข้าวนาปีของจังหวัดนราธิวาส เพื่อศึกษาปริมาณน้ำที่ต้องการในการปลูกข้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้น้ำชลประทาน...”

       “...ศึกษาการใช้ปูนและวัสดุปรับปรุงดินในพื้นที่พรุที่มีอินทรีย์วัตถุสูง จะช่วยให้พืชสามารถใช้ธาตุอาหารไนโตรเจนและแร่ธาตุอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้น...”

       “...เรื่องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน ให้ดำเนินการศึกษาแปลงที่ ๑-๕ ตามที่กรมพัฒนาที่ดินเสนอ...”

 

    วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา 
พิกุลทองฯ ได้พระราชทานพระราชดำริกับ พล.อ.ต.กำธน  สินธวานนท์ องคมนตรี, นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี, นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร., เจ้าหน้าที่ชลประทาน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดังนี้

       “...โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนี้ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดู เราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้หาตำราไม่ได้...”

       “...โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไปในแง่ของการศึกษา ทดลอง และการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้ ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์ (Sulfer) แล้วก็ถ้าเราเปิดไปมีน้ำ อากาศลงไปในเป็นซัลเฟอร์อ๊อกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์อ๊อกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกทีไปละลายซัลเฟอร์อ๊อกไซด์ก็กลายเป็นใส่อ๊อกไซด์ลงไปก็เป็นกรดSulfuric Acid แต่ถ้าสมมติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลาชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนอ๊อกซิเจนแล้ว ตอนนี้ไม่เพิ่ม Acid โดยหลักการเป็นอย่างนั้น แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่างๆ  เพิ่มการทดลองอีก เมื่อได้ผลแล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้ ต้องใช้เวลาอาจจะใช้เวลาสักปีเดียวดูสภาพว่าปีไหน ไม่ได้ใช้ดิน มันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร...”

       “...การขยายผลที่ทดลองที่นี่จะไปเป็นประโยชน์สำหรับที่อื่น...”

       “...ควรดำเนินการจัดทำบัญชีรายรับ–รายจ่ายของงานทดลองปรับปรุงดินเปรี้ยว เพื่อให้ทราบถึงเงินทุน และรายได้ที่ได้รับ ชาวบ้านสามารถมาดูเป็นตัวอย่างได้...”

       “...การจัดหาน้ำให้ศูนย์ฯ พิกุลทอง ควรพิจารณาก่อสร้างโครงการจัดหาน้ำให้ศูนย์ฯ พิกุลทองเพิ่มเติม เนื่องจากอ่างเก็บน้ำใกล้บ้านซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักที่ใช้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ฯ บางปีมีน้ำไม่พอใช้ จึงควรสูบน้ำคุณภาพดีจากแม่น้ำบางนราขึ้นไปช่วยเหลือ เพื่อเสริมกับน้ำจากอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน โดยสูบขึ้นจากริมฝั่งแม่น้ำบางนราแล้วส่งต่อโดยระบบท่อลงไปยังต้นคลองส่งน้ำที่ท้ายเขื่อนฯ ใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปี...”

       “...เมื่อมีการแก้ไขตามที่กล่าวมาแล้ว การใช้น้ำก็สามารถลดความเป็นกรดของดินจนสามารถปลูกพืชได้ผลดี แล้วให้ปล่อยทิ้งไว้เพื่อศึกษาดูว่า กำมะถันที่อยู่ในดินจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วทำให้เกิดกรดอีกหรือไม่ ถ้าเกิดกรดขึ้นมาอีกก็ให้แก้ไขใหม่ดูว่าจะใช้เวลานานเท่าใด...”

       “...งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา ควรทำเป็นตำราที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่นๆ ในพื้นที่อื่น อาจไม่ต้องมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยเช่นนี้ คันดินที่สร้างเพื่อกั้นน้ำก็อาจจะใช้คลองชลประทานสร้างถนน สะพาน การศึกษาจึงต้องทำแบบนี้...”

       “...ดูว่าการใส่ปุ๋ยครั้งเดียวปีแรกจะให้ประโยชน์ได้นานเท่าใด การใช้ปูนอย่างเดียวคงไม่เกิดประโยชน์มาก ต้องมีน้ำร่วมด้วย ปูนราคาไม่แพง แต่ค่าขนส่งแพงเกษตรกรลงทุนสูง และมีน้ำเกษตรกรก็สามารถปลูกพืชได้ตลอดมีปัญหาอีกอย่างก็คือ เกษตรกรขาดแรงงานที่จะหว่านปูนด้วย...”

       “...การทำบัญชีรายจ่าย-รายรับ เมื่อปลูกพืชได้แล้วเอาไว้ให้ชาวบ้านได้เก็บชาวบ้านมักพูดว่า ทางราชการทำได้เพราะมีงบประมาณ ดังนั้นหน่วยงานราชการต้องทำเป็นตัวอย่างด้วย...”

        “...เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์แล้วทางราชการควรจะรวมเป็นกลุ่มทำงานด้วย...”

       “...หาวิธีที่จะนำน้ำจากแม่น้ำบางนราเข้าเสริมในอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน...”

       “...ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแถวยาวตามขวางของระดับความชันของบ่อเลี้ยงปลาเพียงหนึ่งหรือสองแถว ก็น่าจะเพียงพอ แต่ให้ปลูกหญ้าแฝกชิดติดกันต่อเนื่องไป เพื่อให้หญ้าแฝกมีความหนาแน่นใช้เป็นตะแกรงกรองกั้นสิ่งต่าง ๆ ไว้ได้ ...”

 

    วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2536 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร โครงการโคกกูแว ตำบลพร่อน บริเวณพื้นที่ส่งน้ำชลประทานที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน และบริเวณพื้นที่ขอบพรุที่อาคารบังคับน้ำบางเตย ๕ ในเขตโครงการลุ่มน้ำบางนรา จังหวัดนราธิวาส ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน งานพัฒนาที่ดิน กับ พล.อ.ต.กำธน  สินธวานนท์ องคมนตรี, นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี, นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร., นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อธิบดีกรมชลประทาน, นายชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ, เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายละเอียด โดยสรุปดังต่อไปนี้

       “...งานด้านการศึกษาพัฒนา ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริจัดทำแปลงสาธิตการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในบริเวณพื้นที่บ้านยูโย และบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรเห็นรูปแบบการปรับปรุงคุณภาพดินเปรี้ยวให้สามารถเพาะปลูกได้…”

       “...แต่ก่อนนี้เรามายืนตรงนี้ เห็นพื้นที่ที่เขาทำน้อยกว่านี้ แต่ว่าเป็นจุดที่เขียวที่สุด...ใช้ได้นี่ ที่มาที่นี่ดีใจมากที่ทั้งเจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมกันทำและชาวบ้านร่วมกัน ช่วยกันทำเห็นผล จึงต้องมาที่นี่ จะอธิบายได้...” 

 

    วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2536 

 

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ณ 
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ สรุปได้ดังนี้คือ

       “...การศึกษาการเลี้ยงปลาน้ำกร่อยในศูนย์ฯ ให้ตั้งโครงการเลี้ยงปลาน้ำกร่อย เพื่อเป็นการทดลองภายในศูนย์ฯ ให้ศึกษาวิธีการเลี้ยงและการแก้ไข อันจะเป็นตัวอย่างที่ดีและมีประโยชน์มาก...”

       “...การศึกษาหน้าตัดดินวิศวกรรมภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เนื่องจากดินพื้นที่พรุเป็นดินที่อ่อนไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จำเป็นต้องมีการตอกเสาเข็ม ซึ่งชั้นดานที่เป็นหินแข็งจะอยู่ลึกมากอาจถึง ๔๐ ม. เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะชั้นดินในพื้นที่พรุ รวมทั้งความลึกของชั้นหิน จึงให้ขุดเจาะทำหน้าตัดดิน เพื่อไว้ใช้ศึกษาหน้าตัดดินในพื้นที่พรุอันจะเป็นข้อมูลสำคัญในด้านวิศวกรรม สำหรับงานก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่พรุ...”

       “...การศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน โครงการแกล้งดิน ซึ่งมีพระราชดำริตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ ให้เร่งดินให้เป็นกรดจัดจนไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้แล้ว จึงดำเนินการปรับปรุงบำรุงดินให้สามารถปลูกพืชได้ จากนั้นให้ทดลองทิ้งพื้นที่นั้นไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพื่อติดตามดูว่า ความเป็นกรดจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่...”

       จากการดำเนินการศึกษา พบว่าเมื่อทิ้งดินไว้ ๘ เดือน ดินนั้นกลับเป็นกรดรุนแรงอีกดังเดิม จึงได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม

       “...ให้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงนี้ไปอีกนานๆ เพื่อติดตามดูว่าความเป็นกรดของดินจะอยู่ได้เท่าไร...”

       “...ให้ปลูกหญ้าแฝกบนเขาสำนักป้องกันการพังทลายของดิน เนื่องจากที่บริเวณเขาสำนักและอ่างเก็บน้ำ เขาสำนักอยู่ทางด้านทิศใต้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ซึ่งเกิดปัญหาดินถูกกัดเซาะพังทลาย จึงควรปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดินดังกล่าว ที่บนเขาสำนักต้องไปปลูกแฝก ต้องไปดูเพราะว่าบนเขาสำนักไปขุดอะไรก็ทลายลงมา ถ้าปลูกแฝกสามารถช่วยป้องกันการพังทลายของดินได้มาก...”

 

    วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2538 

 

       สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษา 
การพัฒนาพิกุลทองฯ ความว่า

       “...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ควรจัดทำเอกสารงานวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกรดกำมะถัน และงานวิจัยโครงการแกล้งดิน ไว้เป็นรูปเล่ม เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการเสนอผลงานหรือรายงานผลการวิจัยที่ค้นพบ เผยแพร่ไปสู่ระดับนานาชาติ...”