ชันโรง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ยั่งยืน


 

            อาชีพการเลี้ยงชันโรง เป็นอาชีพได้รับความสนใจของชุมชนในหลายพื้นที่ เนื่องจากชันโรงมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย จุดเด่นของชันโรงไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้งทั่วไป มีขนาดเล็กกว่า ๒-๓ เท่า มีความสามารถผสมเกสร จึงเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยให้ผลผลิตออกผลได้ดีขึ้น โดยธรรมชาติพฤติกรรมของชันโรงที่แตกต่างจากผึ้งทั่วไป คือ เวลาที่ชันโรงตอมดอกไม้จะเก็บเกี่ยวเกสรจากดอกไม้ไป ๘๐% เก็บน้ำหวานจากเกสรไป ๒๐% พฤติกรรมของชันโรงที่เก็บเกี่ยวเกสร ๘๐% นี้เองทำให้วิตามินที่ติดไปกับเกสร ชันโรงจะนำกลับไปที่รังทำให้น้ำผึ้งจากชันโรงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดีกว่าผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งทั่วไป 
           นางเนตนภา บุญหา ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก็เป็นคนนึงที่ได้รับโอกาสไปศึกษาดูงาน การเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง ณ จังหวัดพัทลุง ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เมื่อปี ๒๕๖๑ ทำให้เกิดความสนใจในการเลี้ยงชันโรงและกลับมาทดลองเลี้ยงครั้งแรก จำนวน ๓ กล่อง เริ่มเลี้ยงได้ระยะหนึ่ง ผลตอบรับจากลูกค้าและมีรายได้เสริมในครัวเรือนเพิ่มขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เพื่อนบ้านรวมกลุ่มเลี้ยงชันโรงขึ้น เริ่มแรกมีการสนับสนุนกล่องแม่พันธุ์ชันโรงให้สมาชิกรายละ ๑ กล่อง เพื่อนำไปศึกษาและนำความรู้ต่อยอดการเลี้ยงต่อไป โดยจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สมาชิกและรับซื้อเพื่อจำหน่ายในนามกลุ่มชันโรงบ้านไพรวัน ซึ่งชันโรง ๑ รัง สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ ๓๕๐ – ๗๕๐ มิลลิลิตร/ครั้ง (เก็บได้ทุก ๓ – ๕ เดือน) โดย ๑ รังจะได้ผลผลิตเฉลี่ย ๑.๙ ลิตร/ปี ปัจจุบันกลุ่มชันโรงบ้านไพรวันได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก จำนวน ๑๘ ราย สามารถสร้างรายได้กลุ่มกว่า ๖๐๐,๐๐๐ บาท/ปี จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชันโรงในรูปแบบต่างๆ อาทิ น้ำผึ้งชันโรง ขี้ชัน และกล่องชันโรงพร้อมเลี้ยง  
           ดังนั้น การเลี้ยงชันโรงเป็นทางเลือกการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง โดยประโยชน์ของการเลี้ยงชันโรงนั้น นอกจากเลี้ยงไว้เพื่อเก็บน้ำหวานจำหน่ายแล้ว ยังช่วยผสมเกสรให้แก่พืชภายในแปลงเกษตรได้อีกด้วย ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะศึกษาข้อมูลการเลี้ยงชันโรงและมีแนวคิดที่ จะเลี้ยงชันโรงเพื่อสร้างรายได้ สามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ☎️ ๐๗๓ - ๖๓๑๐๓๓ หรือช่องทาง   Page Facebook ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

 


 อนัส  มะรอเซะ รายงาน