กระจับในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่ผ่านการปรับปรุง


 

            กระจับ เป็นพืชน้ำ ชนิดลอยน้ำ ที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด ๔ ชนิด มีลักษณะลำต้นทั่วไปคล้ายกับชนิด ๒ เขา แต่มีลักษณะเด่นที่แตกต่าง คือ ลำต้นไม่แตกไหล ที่ต่างกับชนิด ๒ เขา ที่แตกไหล แต่ใบมีรูปข้าวหลามตัดเหมือนกันแต่มีขนาดใบเล็กกว่า ส่วนขอบใบด้านบนหยักเป็นเลื่อยเหมือนกัน แต่ค่อนข้างลึกกว่าชนิดแรก ปลายของหยักแหลม ใบมีขนสั้นสีน้ำตาลทองปกคลุม ส่วนก้านใบมีลักษณะพองออกเหมือนชนิดแรก ทั้งนี้ ทั้งสองชนิดจะมีความแตกต่างกัน คือ ผลของกระจับจะมีลักษณะแบน ค่อนข้างบาง และเล็ก ขนาดฝักประมาณ ๒ ซม. รวมถึงเขาคู่ล่างจะหันลงด้านล่างในทิศที่ทำมุมกับแนวดิ่ง ต้นกระจับก็เป็นพืชที่น่าสนใจ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่น้ำท่วมขัง อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีประโยชน์ มีคุณค่าโภชนาการสูง ซึ่งฝักกระจับสดสามารถขายได้กิโลกรัมละ ๒๐ - ๓๐ บาท จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรนำมาปลูกเพื่อเพิ่มรายได้  
           ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้จัดทำโครงการทดสอบการปลูกกระจับในพื้นที่แปลงศึกษาทดลองวิจัยของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯซึ่งนำดินเปรี้ยวจัดที่ผ่านการปรับปรุงและใช้ประโยชน์มายาวนาน และพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่เพิ่งผ่านการปรับปรุงและใช้ประโยชน์ มาทดสอบปลูกต้นกระจับเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของกระจับ โดยศูนย์ได้ดำเนินการทดสอบปลูกกระจับ ในพื้นที่ ๐.๖๔ ไร่ สามารถให้ผลผลิตกระจับกว่า ๗๐๐ กิโลกรัมต่อรอบการปลูก (สามารถปลูกกระจับได้ ๒ รอบต่อปี) จากการทดสอบและเก็บข้อมูลผลผลิตกระจับเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ ๑,๑๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ โดยสามารถคิดเป็นรายได้ประมาณ ๒๒,๐๐๐ - ๓๓,๐๐๐ บาทต่อไร่ 
           ทั้งนี้ เกษตรกรท่านใดสนใจที่จะศึกษาข้อมูลการปลูกกระจับในพื้นที่ดินเปรี้ยว สามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ☎️ ๐๗๓ - ๖๓๑๐๓๓ หรือช่องทาง  Page Facebook ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

 


 ฟองหทัย บุญหา  รายงาน